ช่างเทคนิคเครื่องยนต์, ช่างประกอบเครื่องกล Machinery Technician, Machine Assemblers | Future Career Guide

ช่างเทคนิคเครื่องยนต์, ช่างประกอบเครื่องกล Machinery Technician, Machine Assemblers



ชื่ออาชีพ ช่างเทคนิคเครื่องยนต์ ,ช่างประกอบเครื่องกล Machinery Technician ; Machine Assemblers

นิยามอาชีพ

ผู้ปฏิบัติอาชีพช่างเทคนิคเครื่องยนต์ ช่างประกอบเครื่องกล Machinery Technician Machine Assemblers ได้แก่ ผู้ประกอบ และติดตั้งเครื่องจักร เครื่องยนต์ และอุปกรณ์เครื่องกล รวมถึงการประกอบชิ้นส่วน และเครื่องประกอบต่างๆ การตั้ง และติดตั้ง หรืออำนวยการตั้ง และติดตั้งเครื่องยนต์ และอุปกรณ์เครื่องยนต์อื่นๆ ซึ่งโดยปกติเป็นเครื่องยานยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ รถสินค้า รถบรรทุก และรถประเภทอื่นๆ

ลักษณะของงานที่ทำ

ปฏิบัติงานในลักษณะผู้ควบคุมงานโดยทำงานภายใต้การแนะนำ และควบคุมของวิศวกรเครื่องกลรถยนต์
ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการออกแบบ ติดตั้ง ซ่อมบำรุง ตรวจสอบ และวิเคราะห์ระบบเครื่องยนต์เล็กและใหญ่ ระบบไฟฟ้าในยานยนต์ ระบบส่งกำลัง ระบบช่วงล่างรถยนต์ ระบบการทำงานเครื่องมือ เครื่องจักรที่ ควบคุมด้วยนิวเมติกส์ และไฮดรอลิกส์ (นอกจากนี้มีงานพิเศษเฉพาะอย่าง เช่น ระบบเครื่องยนต์เรือ ระบบเครื่องยนต์ และเครื่องกลการเกษตร และระบบเครื่องจักรกลไอน้ำ)

ควบคุมการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เช่น ระบบจุดระเบิด เครื่องกำเนิดไฟฟ้า(ไดนาโม) กระปุกเฟือง พวงมาลัย กระปุกเกียร์ และห้ามล้อ

ตรวจสอบระบบที่ติดตั้ง รวมทั้งระบบส่งถ่ายกำลัง ตรวจสอบข้อต่อต่างๆ
ตรวจสอบเครื่องยนต์ และปรับเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
อาจให้บริการ และซ่อมเครื่องยนต์ และอุปกรณ์เพื่อให้คงอยู่ในสภาพที่ทำงานได้ดี

สภาพการจ้างงาน

ช่างเทคนิคเครื่องยนต์ ที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ที่ไม่มีประสบการณ์จะได้รับเงินเดือนโดยประมาณดังนี้





ประเภทองค์กร วุฒิการศึกษา อัตราเงินเดือน
ราชการ ประโยควิชาชีพ (ปวช.) 9,000 - 9,900
ประโยควิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 10,500 - 11,550
เอกชน ประโยควิชาชีพ (ปวช.) 8,000- 12,000
ประโยควิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 8,000 - 12,000



สำหรับงานเอกชนนั้น อัตราเงินเดือนขึ้นอยู่กับความสามารถ ความชำนาญงาน และวุฒิการศึกษาของแต่ละบุคคล นอกเหนือจากเงินเดือนและค่าจ้างประจำแล้ว อาจได้รับผลประโยชน์พิเศษอย่างอื่นในรูปของสวัสดิการต่างๆ เช่นค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร โบนัส บำเหน็จ บำนาญ

ผู้ปฏิบัติอาชีพช่างเทคนิคเครื่องยนต์ ช่างประกอบเครื่องกล Machinery Technician Machine Assemblersทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง อาจจะต้องทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด หรือต้องทำงานล่วงเวลา ในกรณีที่ต้องการให้งานติดตั้ง หรือซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ให้ทันการใช้งาน

ช่างเทคนิคเครื่องยนต์ สามารถประกอบอาชีพอิสระ เช่น รับซ่อม และประกอบเครื่องยนต์ หรือ รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ เช่น กรมโยธาธิการ กรมชลประทาน  การไฟฟ้า เป็นต้น

สภาพการทำงาน

ผู้ปฏิบัติอาชีพช่างเทคนิคเครื่องยนต์ ช่างประกอบเครื่องกล Machinery Technician Machine Assemblers ทำงานทั้งใน และนอกสถานที่ทำงาน ในการตรวจซ่อม และบริการการดูแล และซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ต่างๆ สภาพการทำงานหนักปานกลาง ต้องใช้ความอดทนต่อสภาพความร้อน เสียง กลิ่นของสารเคมี ทำความสะอาดอุปกรณ์ และบางโอกาสทำงานตามลำพัง ต้องใช้ความระมัดระวัง และรอบคอบสูงพอสมควร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน และบางครั้งต้องทำงานเกินเวลา

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ มีดังนี้

  1. สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาช่างยนต์
  2. มีร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ สามารถทำงานกลางแจ้ง และงานหนักได้
  3. มีความอดทน ละเอียดรอบคอบ
  4. ช่างสังเกต จดจำ สามารถวิเคราะห์ และตัดสินใจแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำงานได้
  5. มีความรับผิดชอบ และตระหนักถึงความปลอดภัยและป้องกันอุบัติภัย
  6. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ชอบการคิดคำนวณ และงานทดลอง
  7. มีมนุษยสัมพันธ์ดี
ผู้สนใจประกอบอาชีพช่างเทคนิคเครื่องยนต์ ช่างประกอบเครื่องกล Machinery Technician Machine Assemblers ควรเตรียมความพร้อมดังนี้คือ : 
ระดับช่างฝีมือต้องสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาช่างยนต์ จากสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษาหรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ระดับช่างเทคนิค สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชา ช่างยนต์ จากสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษา หรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลหรือวิทยาลัยเทคโนโลยี อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

โอกาสในการมีงานทำ

ถึงแม้ว่าภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังประสบปัญหาอยู่ทำให้การลงทุนเพื่อขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมชะงักไป แต่ความต้องการแรงงานทางด้านช่างเทคนิคเครื่องยนต์ยังคงมีอยู่ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา จะกลับฟื้นตัว และขยายการลงทุนขึ้นอีก ฉะนั้น งานช่างเทคนิคเครื่องยนต์จะกลับมาเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอีกมากขึ้น ตามอัตราการขยายตัวของสถานประกอบกิจการอุตสาหกรรม

สำหรับแหล่งจ้างงานช่างเทคนิคเครื่องยนต์โดยทั่วไป ได้แก่ สถานประกอบการอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ เช่น กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือประกอบอาชีพอิสระ เช่น รับติดตั้งซ่อมแซมระบบเครื่องยนต์

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ

ผู้ประกอบอาชีพช่างเทคนิคเครื่องยนต์ที่มีประสบการณ์ และความชำนาญจะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปจนถึงระดับหัวหน้างาน และสำหรับผู้ที่สนใจที่จะศึกษาต่อ เพื่อปรับวิทยฐานะให้สูงขึ้นเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพต่อไป มีแนวทางในการศึกษาต่อ ดังนี้

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร 2 ปีประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม สาขาวิชาช่างยนต์ ในสถานศึกษาสังกัดกรม อาชีวศึกษา หรือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ หรือ ระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปีสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลใน คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือสาขาวิชาในสถานศึกษาสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ผู้สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง 3-3 ปีครึ่ง สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือสถานศึกษาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง2-3 ปี สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการเครื่องมือกล สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม การวัสดุอุตสาหกรรมคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ในสถานศึกษาสังกัดสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือระดับปริญญาตรีต่อเนื่อง 2-3 ปี สาขาวิชาเทคโนโลยี เครื่องกลในวิทยาลัยเทคโนโลยี อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง

ช่างเทคนิคเครื่องกล วิศวกรเครื่องจักรกล

Related Articels


Copyright © 2011 Future Career อาชีพที่ใฝ่ฝัน | จบไปทำอะไร เรียนอะไรบ้าง ทำงานอะไรบ้าง เงินเดือนดีไหม ที่ไหนเปิดสอนบ้าง | Designed by 4x100Utd