ชื่ออาชีพ เจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ Audio Visual Aids Specialist หรือ เจ้าหน้าที่โสตทัศนวัสดุ Audio Visual Staff
นิยามอาชีพ
ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพเจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ Audio Visual Aids Specialist ทำหน้าที่ในการวางแผนการ การจัดทำ การจัดหา ออกแบบโสตทัศนูปกรณ์ และแผนภูมิที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การสาธิตการสอน การนำเสนอผลงานในการสัมมนา และการประชุมค้นคว้ากรรมวิธีใหม่ ของขั้นตอนการสร้างงานดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายทอดความคิดหรือข้อมูล เพื่อเป็นการสื่อให้ผู้รับสื่อเข้าใจและเห็นตามด้วย
ลักษณะของงานที่ทำ
- ศึกษางานและวางแผนการจัดทำ หรือจัดหาโสตทัศนูปกรณ์ที่เหมาะสมกับงานแต่ละประเภท หรือตามวัตถุประสงค์
- ผลิตงานศิลป์ เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยประกอบการสอน การจัดประชุม สัมมนา และกิจกรรมต่างๆ โดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิค หรือระบบมัลติมีเดีย ในการจัดทำ
- จัดหาและเตรียมอุปกรณ์ให้เหมาะสม และพร้อมสำหรับการนำเสนอ
- จัดทำดัชนีหมวดหมู่ของโสตทัศนูปกรณ์ และดูแลเก็บผลงานของสื่อแต่ละประเภท อย่างเหมาะสม ตรวจสอบและจัดซ่อมบำรุงอุปกรณ์ ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย เพื่อให้สามารถ นำไปใช้งานได้ตามความต้องการ
- อาจดูแลงานธุรการในแผนก ตลอดจนจัดตารางเวลาการใช้งานและการขอใช้งานของ หน่วยงานต่างๆ
- ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ขององค์กร หรือสถาบันการศึกษาให้มีการใช้โสตทัศนูปกรณ์ อย่างเต็มประสิทธิภาพและมีศักยภาพ
- อาจต้องดูแลหน่วยงานเทคโนโลยีทางการศึกษาและอาจทำหน้าที่เป็นช่างภาพด้วย
สภาพการจ้างงาน
เจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ ที่ปฏิบัติงานในภาครัฐได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือน ตามวุฒิการศึกษา สำหรับในภาคเอกชน ผู้ประกอบวิชาชีพเจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ Audio Visual Aids Specialistอาจอยู่ภายใต้การดูแลของฝ่ายศิลปกรรม หรือฝ่ายบุคคล หรือฝ่ายประชาสัมพันธ์ จะได้รับเงินเดือนประมาณ 7,000 - 8,000 บาท มีสวัสดิการและประกันสังคม ตามกฎหมายแรงงาน ส่วนโบนัสและผลประโยชน์อย่างอื่น ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของสถานประกอบการ และหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นในแต่ละสถานประกอบการ
สภาพการทำงาน
ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพเจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ Audio Visual Aids Specialist ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในสถานที่ทำงาน ที่มีเครื่องปรับอากาศ เพราะอาจเป็น ห้องที่ใช้จัดเก็บโสตทัศนูปกรณ์ที่ประกอบด้วยสไลด์ แผ่นใส เครื่องคอมพิวเตอร์ กล้อง ฟิลม์ จอภาพ เทป แผ่นดิสก์ และแผ่นซีดีรอม และอาจต้องทำงานในห้องมืดสำหรับล้างภาพซึ่งอาจอยู่ภายในห้องเดียวกัน หรือแยกออกไปต่างหาก อาจทำงานในห้องบันทึกเทปโทรทัศน์ หรือ ตัดต่อวิดีโอเทป
โดยปกติ ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพเจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ Audio Visual Aids Specialistทำงานวันละ 8 ชั่วโมงหรือสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง แต่อาจต้องทำงาน ล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด เพื่อให้งานแล้วเสร็จตามกำหนดหรือทันเวลาในงาน
ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพเจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ Audio Visual Aids Specialist ต้องใช้เครื่องมือเกี่ยวกับการผลิตหรือจัดการโสตทัศนูปกรณ์ การทำงานมีทั้ง การนั่งทำงาน และยืนทำงาน และทำงานในที่ค่อนข้างมืด สูงแต่ไม่เสี่ยงอันตรายในการทำงาน
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
ผู้ประกอบวิชาชีพเจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ Audio Visual Aids Specialist ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
- สำเร็จการศึกษาระดับประโยควิชาชีพชั้นสูง จนถึงระดับปริญญาตรี สาขาวิชาศิลปกรรม การออกแบบ นิเทศศิลป์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง
- มีความสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยในการจัดทำสื่อการสอนและการนำเสนอผลงาน
- มีความรู้ในการออกแบบสื่อต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม
- มีความรู้และทักษะการใช้อุปกรณ์ โสตทัศนูปกรณ์ เช่น ถ่ายรูป ล้างรูป การฉายสไลด์ เป็นต้น
- มีความคิดสร้างสรรค์ มีฝีมือทางศิลป และสามารถค้นคิดออกแบบนวัตกรรมอุปกรณ์สื่อการสอนใหม่ๆ
- มีความรักงานในอาชีพ
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม
- มีความเข้าใจในภาษาอังกฤษ
ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพเจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ Audio Visual Aids Specialist ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้ :
ผู้ที่สำเร็จมัธยมศึกษาตอนต้นสามารถสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับปวส. และศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีในสถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน
โอกาสในการมีงานทำ
ปัจจุบันการใช้โสตทัศนูปกรณ์เป็นสิ่งสื่อสารที่จำเป็นต่อระบบการศึกษาสมัยใหม่ และการนำเสนอผลงานขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกองค์กร จึงมีความต้องการเจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ที่มีความสามารถในการค้นคิด นวัตกรรมใหม่เพื่อช่วยในการถ่ายทอด สื่อสาร เพื่อกระตุ้นเร้าให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจได้ และเห็นภาพรวมได้ใกล้เคียงกับของ หรือสถานที่จริง ดังนั้น ผู้มีความสามารถในด้านวิชาชีพนี้จึงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากพอสมควร เพราะนอกจากโสตทัศนูปกรณ์จะเป็นหัวใจของการ นำเสนอสื่อการสอน การสาธิตผลงานให้กับนักเรียนนักศึกษา แล้วยังมีความสำคัญต่อองค์กรธุรกิจในการ นำเสนอผลงาน พร้อมการสาธิตที่มีส่วนต่อการตัดสินใจต่อลูกค้าในการตกลงหรือเจรจาซื้อขายเป็นอย่างยิ่งตลอดจนเป็นการอำนวยความสะดวกแก่การประชุม สัมมนา และกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องการสื่อความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ผู้รับ หรือประชาชนทั่วไป
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
เจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ ที่ทำงานในภาครัฐมีโอกาสความก้าวหน้าในการทำงาน โดยการเลื่อนขั้น เลื่อนชั้น และเลื่อนตำแหน่ง ตามระบบของทางราชการ แต่ก็ควรศึกษาหาความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะช่วยให้มีโอกาสก้าวหน้ารวดเร็วขึ้น สำหรับผู้จบ ปวส.อาจศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา คณะเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เป็นต้น
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
เจ้าหน้าที่อบรม นักออกแบบผลิตภัณฑ์ นักออกแบบกราฟฟิค ช่างภาพ นักเทคโนโลยีทาง การศึกษา ครู-อาจารย์