ชื่ออาชีพ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ Packaging Designer
นิยามอาชีพ
ผู้ปฏิบัติงานนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ Packaging Designer ทำหน้าที่ออกแบบสร้างสรรค์รูปทรงบรรจุภัณฑ์ ภาชนะหีบห่อสำหรับสินค้า โดยคำนึงถึงความสวยงาม วัสดุที่นำมาใช้ ตลอดจนขั้นตอนการผลิต ให้ถูกต้องตามวัสดุโครงสร้างการผลิตและประโยชน์ในการใช้สอย และสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค
ลักษณะของงานที่ทำ
ผู้ปฏิบัติงานนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ Packaging Designer จะต้องทำการศึกษาการออกแบบและวิวัฒนาการของภาชนะ หีบห่อ หรือบรรจุภัณฑ์ วิเคราะห์ศึกษาลักษณะวัสดุต่างๆที่นำมาใช้ผลิต นำเทคโนโลยีในการผลิตกับ การออกแบบมาผสมผสานกันในการออกแบบที่ต้องสอดคล้องกับกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม นอกจากการออกแบบที่สวยงามแล้ว ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- สินค้าที่จะบรรจุในภาชนะ
- แนวโน้มทางการตลาด และคู่แข่งขันของสินค้า
- กลุ่มเป้าหมายผู้บริโภค ตลอดจนความสัมพันธ์ สิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมและพฤติกรรมของมนุษย์
- วัสดุและคุณภาพของวัสดุที่จะนำมาใช้ แหล่งวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบ จากนั้นนำข้อมูล มาวิเคราะห์ แล้วจึงนำไปออกแบบ ประมาณราคาต้นทุนในการผลิตและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทำแบบจำลอง และทดลองผลิตต้นแบบเพื่อให้ผู้ว่าจ้างพิจารณาแก้ไข นำผลิตภัณฑ์ต้นแบบมาแก้ไขตรวจสอบความถูกต้องตามเงื่อนไขที่ตกลงกับ ผู้ว่าจ้าง นอกจากนั้น ยังต้องตรวจสอบความปลอดภัย ความแข็งแรง และความทนทานอีกด้วย ควบคุมดูแลงานรายละเอียด ในขั้นตอนการผลิตจนชิ้นงาน ส่งถึงมือลูกค้า
สภาพการจ้างงาน
สำหรับนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจะได้รับอัตราค่าจ้างเป็น เงินเดือนขั้นต้นประมาณ 10,000-15,000 บาทซึ่งขึ้นอยู่กับผลงานการออกแบบ และผลงานการฝึกงาน ที่นำเสนอ อาจได้ค่าตอบแทนจูงใจเมื่อทำงานเสร็จแต่ละโครงงานโดยได้รับเป็น 2 - 3 เท่าของ เงินเดือน ส่วนโบนัส ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของสถานประกอบกิจการ และได้รับผลประโยชน์อย่างอื่นตามกฎหมายแรงงาน
ผู้ประกอบนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ Packaging Designer ในสถานประกอบกิจการดังกล่าว จะมีกรอบกำหนดในการทำงานรวมทั้งชั่วโมง การทำงาน คือวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 40 - 48 ชั่วโมง และอาจต้องทำงานล่วงเวลา ทำงานใน วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด
แต่ถ้าเปลี่ยนไปประกอบอาชีพส่วนตัวโดยเปิดสำนักงานหรือใช้บ้านเป็น ที่ทำงาน รับจ้างทำงานให้สถานประกอบกิจการเดิม หรือผู้ว่าจ้างอื่นๆ เป็นโครงงานไป ค่าตอบแทนจะคิดเป็นงานเหมา หรืออาจได้รับเงินค่าตอบแทนมากกว่าเดิม กำหนดเวลาทำงานก็จะไม่แน่นอน
สภาพการทำงาน
บรรยากาศในการทำงานสำหรับผู้ประกอบนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ Packaging Designer จะเหมือนกับฝ่ายศิลปกรรมอื่นๆ ที่มีพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นสัดส่วนมีอุปกรณ์เครื่องมือในการออกแบบครบถ้วน
ถ้าประกอบธุรกิจที่บ้านจะมีลักษณะเป็นสตูดิโอ การทำงานที่มีอุปกรณ์ครบถ้วนเช่นกัน เมื่อปฎิบัติงานตามที่มีผู้ว่าจ้างแล้วเสร็จ ผู้ประกอบนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ Packaging Designer อาจจะออกแบบผลงานของตนเองอันไม่จำกัดความคิด และรูปแบบ อาจเป็นทั้งบรรจุภัณฑ์อเนกประสงค์ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อนำไปจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ด้วยตนเอง
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
ผู้ปฏิบัติงานนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ Packaging Designer ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
- สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรม, ศิลปกรรม และสาขาพาณิชย์ศิลป์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือนิเทศศิลป์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง
- มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีไหวพริบและความสนใจความเคลื่อนไหวของธุรกิจและการตลาด เท่าๆ กับนักการตลาด
- มีความรู้ในเรื่องวัสดุและวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์
- มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัยสูง มีความอดทน
- มีความสามารถในการประมาณราคาวัสดุ แบบหีบห่อ ภาชนะ และบรรจุภัณฑ์ได้
- มีความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีในการผลิตเข้ามาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ และในการผลิต
- สามารถทำงานเป็นทีมได้ และมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี
- ใจกว้างสามารถรับฟังคำแนะนำ และติชมได้
โอกาสในการมีงานทำ
ปัจจุบัน นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ Packaging Designer มีการจ้างแรงงานอยู่ในระดับปานกลาง ถึงมาก ส่วนมากบริษัทผู้ว่าจ้าง นักออกแบบบรรจุภัณฑ์ คือ บริษัทตัวแทนรับจ้างรับจัดโฆษณาประชาสัมพันธ์ บริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือบริษัทที่ผู้ผลิตสินค้าเป็นจำนวนหลายประเภทและยี่ห้อ
นอกเหนือจากผู้ปฏิบัตินักออกแบบบรรจุภัณฑ์ Packaging Designer จะมีทางเลือกในการทำงานแบบอุตสาหกรรมแล้ว ปัจจุบันชุมชน ทั่วประเทศต่างหันมาทำการค้ากันระหว่างชุมชนทั่วประเทศโดยมีการส่งเสริมจากภาครัฐในการให้ ความช่วยเหลือให้ผลิตผลิตภัณฑ์สินค้าพื้นบ้านเพื่อการพาณิชย์และการส่งออก
ดังนั้นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เหล่านั้นต่างต้องการภาชนะ และหีบห่อที่ร่วมสมัย และทันสมัยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของสินค้า และดึงดูด เรียกร้องความสนใจจากผู้ซี้อหาหรือผู้บริโภค เป็นโอกาสอีกช่องทางหนึ่ง ที่ผู้ออกแบบบรรจุภัณฑ์สามารถเลือกประกอบอาชีพนอกเหนือจากการทำงานในสถานประกอบกิจการ และประกอบอาชีพอิสระในการผลิตสินค้าที่ระลึกและของขวัญ และส่วนมากผู้ประกอบนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ Packaging Designer สามารถสร้างสรรค์งานได้หลากหลายโดยไม่ยึดติดกับรูปแบบของงาน
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
ผู้ที่ปฏิบัติงานอาชีพ นี้ในสถานประกอบกิจการผลิต อาจได้รับการเลื่อนตำแหน่งไปจนถึงตำแหน่งสูงสุดตามโครงสร้างขององค์กร เช่นผู้จัดการฝ่ายออกแบบบรรจุภัณฑ์
ถ้าประกอบอาชีพอิสระ อาจทำหน้าที่เป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ขึ้นเองหรือของผู้อื่นด้วย
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
นักออกแบบผลิตภัณฑ์ นักอออกแบบตรา และงานศิลป์บนบรรจุภัณฑ์ที่สำเร็จรูปแล้ว ศิลปินที่ทำงานด้านศิลป เปิดบริษัทโพรดัคชั่นเฮาส์ ที่รับออกแบบงานทุกประเภท ผู้ประสานงานการผลิต ผู้ส่งออกสินค้า
รายชื่อมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน | ||||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัย | คณะหรือประเภทวิชาที่เปิดสอน | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | คณะอุตสาหกรรมเกษตร (สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เทคโนโลยีการบรรจุเทคโนโลยีชีวภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร) | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ | คณะอุตสาหกรรมเกษตร สาขาวิชาเทคโนโลยีการบรรจุ | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยนเรศวร | คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ (ศป.บ.) | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยพะเยา | คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ (ศป.บ.) | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง | สํานักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร สาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการผลิตผลเกษตรและการบรรจุ | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร | คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาวิชาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ | คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาการออกแบบ (ออกแบบบรรจุภัณฑ์) | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา | คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาออกแบบสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ | |||||||||||||||||||||