ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ Sale representative | Future Career Guide

ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ Sale representative




ชื่ออาชีพ ตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ Product representative



นิยามอาชีพ

เดินทางไปตามเขตพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อขายผลิตภัณฑ์สินค้าของผู้ประกอบการ ทั้งในและนอกประเทศให้แก่สถานประกอบการค้าส่งและค้าปลีก โดยได้รับค่านายหน้าเป็นการตอบแทน : ปฏิบัติหน้าที่การงานที่สำคัญเช่นเดียวกันกับพนักงานเดินตลาด แต่โดยปกติทำหน้าที่เป็นตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน อาจจัดแสดงสินค้าตัวอย่างในห้องแสดงสินค้าและขายสินค้าที่ห้องแสดงสินค้า อาจมีชื่อเรียกตามสินค้าที่ขาย

ลักษณะของงานที่ทำ

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาส่งเสริมการขายและการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการโดยใช้บุคคล ซึ่งเป็นงานที่จำเป็นและสำคัญมากอย่างหนึ่งขององค์กร อาจมีชื่อเรียกว่าผู้แทนขาย นักขาย ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งของการตลาด (4 P's ของการตลาด คือ Product Planning , Pricing , Place/Physical Distribution , Promotion and Advertising)

โดยทำหน้าที่ ดังนี้

  1. ติดต่อลูกค้าในตลาด เพื่อทำการขายการเจรจาสื่อสารระหว่าง ผู้ขาย และผู้ซื้อหรือกลุ่มผู้ที่คาดหวังว่าจะเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ผู้ซื้อรู้จักสินค้ากระตุ้นความสนใจและสร้างความ พอใจในตัวสินค้า
  2. เจรจาเรื่องเงื่อนไขการซื้อขายและให้คำปรึกษาแก่ลูกค้า รวมทั้งแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นก่อนการขายและหลังการขาย

หาลูกค้าใหม่ๆ พนักงานขายบางประเภทอาจจะต้องขายสินค้าที่ไม่มีตัวตนให้กับลูกค้า อย่างเช่น การขายบริการความคุ้มครองการประกันชีวิต ประกันภัย ด้านที่ปรึกษา บริการด้านการโฆษณา ซึ่งต้องใช้ความพยายามและความคิดสร้างสรรค์ในการขายสินค้า

จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ส่วนลดการค้า การแสดงนิทรรศการ การค้า การโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เป็นเครื่องมือช่วยกระตุ้นในการขาย


อาจให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้า เช่นการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังการซื้อสินค้า หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ชำรุดให้แก่ลูกค้า เป็นต้น

พนักงานขายอาจทำงาน ณ สถานที่ขายสินค้าซึ่งกำหนดไว้ เช่น ศูนย์การค้า ท่าอากาศยานตามบ้านเรือนส่วนบุคคล หรือตามสถานที่ราชการ และสถานประกอบกิจการต่างๆ เป็นต้น

สภาพการจ้างงาน

ผู้ประกอบอาชีพนี้ตระหนักดีว่าเป็นอาชีพที่ให้รายได้ดีสำหรับผู้มีความสามารถและขยันโดยอาจได้รับเงินเดือนค่อนข้างน้อย คือ ประมาณ 15,000 – 30,000 บาท รวมค่ายานพาหนะ ค่าโทรศัพท์ แต่จะได้เงินค่านายหน้าจากการขายสินค้าแต่ละชิ้น หรือได้เป็นเปอร์เซ็นต์จากการขายทะลุเป้าการขายที่ผู้บริหารตั้งไว้เป็นผลตอบแทน เฉลี่ยรายได้ต่อเดือนรวมค่านายหน้า แล้วจะได้รับเงินประมาณเดือนละ 50,000 - 100,000 บาท และได้รับสวัสดิการ โบนัส หรือผลประโยชน์อย่างอื่นตามผลประกอบการขององค์กร

ปัจจุบัน ค่าตอบแทนในการเป็นพนักงานขายตรง พนักงานขายตรงหลายชั้น ก็สามารถเป็นรายได้หลักและรายได้เสริมให้กับผู้มีงานประจำได้เช่นกันตามความสามารถ ความขยันและเวลาของผู้ขาย

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้มีเวลาทำงานไม่แน่นอน เนื่องจากรายได้ขึ้นอยู่กับผลงานที่ทำได้ ส่วนพนักงานขายที่อยู่ประจำที่จะมีกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอน คือ วันละ 8 - 9 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 40 - 48 ชั่วโมงได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็น รายเดือนในอัตราขั้นต่ำประมาณ 5,000 บาท มีค่าล่วงเวลาและค่าคอมมิชชั่นจากการขาย รายได้โดยรวมประมาณ 10,000 - 15,000 บาทต่อเดือน

สภาพการทำงาน

สภาพการทำงานอาจแบ่งตามประเภทของสินค้าที่ทำการขาย เช่น พนักงานขายสินค้า ผู้บริโภค หรือสินค้าอุตสาหกรรม ถ้าปฏิบัติงานขายอยู่ในอาคารประกอบกิจการ รับคำสั่งซื้อหรือประจำในห้างสรรพสินค้าเรียกพนักงานขายประเภทนี้ว่า Counter Personnel (CP.) ถ้าจะต้องไปติดต่อลูกค้านอกสถานที่ เรียกว่า Sales Executive นอกจากนี้หน้าที่ในความรับผิดชอบ อาจจะต้องส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อพนักงานขายบางตำแหน่งอาจทำหน้าที่เยี่ยมเยียนลูกค้า ร้านค้า ในต่างจังหวัด เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อลูกค้า แนะนำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าตัวใหม่หรืออาจตรวจตลาด และเก็บข้อมูลเพื่อทำรายงานบันทึกถึงผู้บังคับบัญชา หรือฝ่ายการตลาด

ถ้าเป็นผู้แทนขายระบบงานหรือระบบคอมพิวเตอร์ อาจจะต้องทำงานเป็นทีมในการเสนอขายและสาธิตให้กับคณะกรรมการผู้จัดซื้อขององค์กรหรือโรงงาน ในทีมงานอาจจะมีเจ้าหน้าที่เทคนิค วิศวกร เป็นผู้ให้รายละเอียดตอบข้อซักถาม ต่าง ๆ ของลูกค้า จากนั้นพนักงานขายซึ่งทำหน้าที่ติดต่อตั้งแต่เริ่มต้นจะเป็น

ผู้ประสานงาน และเจรจาปิดการขายทีมพนักงานขายอาจจะต้องเข้าร่วมประชุม สัมมนา เพื่อให้ความรู้ในการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อของลูกค้า เพื่อให้ได้มาถึงคำสั่งในความต้องการรูปแบบของสินค้าและการบริการ

นอกจากนี้ ยังมีพนักงานขายที่ทำหน้าที่ขายตรงประเภทชั้นเดียวหรือหลายชั้น ซึ่งมักจะขายสินค้าผู้บริโภคและประเภทเครื่องสำอาง โดยอาศัยเครือข่ายลูกโซ่ของผู้ขายสมาชิกและผู้ซื้อสินค้าก็จะได้เป็นสมาชิกและส่วนลดการซื้อสินค้าตามเงื่อนไขของเจ้าของผู้บริหาร

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ

  1. จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประโยควิชาชีพ (ปวช.)
  2. มียานพาหนะส่วนตัว มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีความสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ได้จะได้รับการพิจารณาพิเศษ
  3. ต้องเป็นผู้มีศิลปะในการเจรจา เรียนรู้การใช้โอกาส และประโยชน์จาก "ศิลปะในการขาย "
  4. ให้ข้อมูลสินค้าที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้ามากที่สุด ซื่อสัตย์ต่อ ผู้บริโภคหรือลูกค้า
  5. ต้องเป็นผู้มีทัศนคติดี เป็นผู้รับฟังที่ดี มีลักษณะเป็นผู้ให้ความอบอุ่น รู้จักกาลเทศะ
  6. รู้จักการจัดเก็บข้อมูล เพื่อปรับกลยุทธ์ทางการตลาด และการขาย
  7. ปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผน การขาย เนื่องจากการที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงข่าวสารได้รวดเร็วแลค้นหา ข้อมูลด้วยตัวเองได้ ดังนั้นพนักงานจำเป็นต้องเรียนรู้และพร้อมที่จะพัฒนาเทคนิคการขายให้ทันกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
  8. มีความขยัน อดทน
  9. มีความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์และสามารถปรับแผนการขายทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อเจาะหาลูกค้ารายใหม่ ๆ
  10. มีความสามารถในการทำงานเป็นทีมมีวินัย มีความเป็นผู้ตาม และผู้นำที่ดี

ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้ : สำเร็จการศึกษาระดับประโยควิชาชีพชั้นสูงด้านพาณิชยการและการขายจนถึงปริญญาตรีหรือปริญญาโทในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าขายสินค้าในอุตสาหกรรมอาหาร ยา เครื่องจักรคอมพิวเตอร์ เครื่องมือแพทย์ เคมีภัณฑ์ จะรับพนักงานขายหรือตัวแทนการขายที่สำเร็จการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวกับสินค้าชนิดนั้น เช่น วิทยาศาสตร์การอาหาร วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หรือวิทยาศาสตร์สาขาคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ เภสัชกรรม เคมี วิศกรรมเคมี ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ด้านการสื่อสารก็จะรับสาขา โทรคมนาคม วิศวกรรมไฟฟ้า หรือวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ถ้าเป็นธุรกิจเกี่ยวกับ ไฟเบอร์ ออพติค และระบบอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องก็จะรับ สาขาสื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์

วิศวกรรมไฟฟ้า คอมพิวเตอร์หรือฟิสิกส์ ถ้าเกี่ยวกับสื่ออุปกรณ์การเรียน การสอนในสถาบันการศึกษาก็จะต้องสำเร็จการศึกษา สาขาครุศาสตร์ด้าน สื่อการสอน เป็นต้น

โอกาสในการมีงานทำ

แนวโน้มตลาดแรงงานได้เปิดกว้างสำหรับ ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาที่ตรงกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการขายและต้องการพนักงานขายหน้าใหม่ที่รักในอาชีพ มีสินค้าที่ต้องการพนักงานขายหรือผู้แทนการขายที่มีความรู้เฉพาะด้านมากขึ้น ซึ่งคุณวุฒิและประสบการณ์ในตลาดของพนักขายในปัจจุบันจึงแตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างสิ้นเชิง

เนื่องจากเดิมทัศนคติของผู้ที่เป็นพนักงานขาย คือ บุคคลที่ไม่สามารถทำงานอาชีพอื่นได้ จึงมาเป็นพนักงานขาย ปัจจุบันบางองค์กรกำหนดไว้ว่าพนักงานขายต้องสำเร็จการศึกษาสาขาการตลาดโดยเฉพาะหรือแพทย์ เภสัชกรรม และวิศวกรรม เป็นต้น เพราะองค์กรธุรกิจในยุคการค้าเสรีตระหนักดีว่าการรับพนักงานขายที่ไม่มี พื้นฐานความเข้าใจในสินค้านั้นๆ อาจจะไม่สามารถทำให้การขายบรรลุจุดประสงค์ และเป้าหมายของบริษัทที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มีการแข่งขันอย่าง เข้มข้นจากคู่แข่งทางการค้าที่มีการขายผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้นอกจากจะสามารถทำงานในองค์กร ห้างร้าน บริษัทต่างๆ แล้วยังสามารถนำประสบการณ์ไปประกอบอาชีพอิสระของตนเองได้


โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ

โดยทั่วไปพนักงานขายที่มีประสบการณ์ในการทำงานประมาณ 2 - 3 ปี ก็จะมีโอกาสก้าวหน้าไปทำงานในตำแหน่งอื่นที่สูงขึ้น เช่น ผู้ควบคุมการขาย หรือ Sales Supervisors, ผู้ควบคุมการขายส่ง จัดการฝ่ายขายส่ง ผู้ควบคุมการขายปลีก ผู้จัดการฝ่ายขายปลีกหรือเปลี่ยนสายอาชีพไปเป็นนักการตลาด ผู้จัดการประจำผลิตภัณฑ์ หรือนักวิจัยการตลาด จนถึงตำแหน่งผู้บริหารตามตำแหน่งในโครงสร้างขององค์กร



อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง

นักการตลาด นักวิเคราะห์การตลาด นักวิเคราะห์สินเชื่อ นักวางแผนธุรกิจ นักบริหารการขาย





Related Articels


Copyright © 2011 Future Career อาชีพที่ใฝ่ฝัน | จบไปทำอะไร เรียนอะไรบ้าง ทำงานอะไรบ้าง เงินเดือนดีไหม ที่ไหนเปิดสอนบ้าง | Designed by 4x100Utd