ครู อาจารย์ Teachers Tutors Lecturers | Future Career Guide

ครู อาจารย์ Teachers Tutors Lecturers




ชื่ออาชีพ ครู อาจารย์ Teachers , Tutors , Lecturers, Professors , Instructors , Pedagogues

นิยามอาชีพ

ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพครู อาจารย์ Teachers Tutors Lecturers ได้แก่ ผู้ให้การศึกษา และการฝึกอบรมแก่เด็กชายและเด็กหญิงในโรงเรียน และสถานที่อื่นๆ รวมทั้งผู้ให้การศึกษา และการฝึกอบรม เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ แก่เยาวชนนิสิตนักศึกษา ในมหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงผู้ให้การศึกษา และการฝึกอบรมในสถาน ฝึกอบรมวิชาชีพ ศูนย์ฝึกอาชีพ และสถาบันฝึกอาชีพต่างๆ หรือผู้ที่จัดรายการการศึกษาทางไกลผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีโทรทัศน์สำหรับนักเรียน นักศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียน

ลักษณะของงานที่ทำ

ผู้ประกอบวิชาชีพครู อาจารย์ Teachers Tutors Lecturers มีหน้าที่ในการสอน อบรม ทางด้านวิชาการและภาคปฏิบัติ พุทธศึกษา จริยศึกษา และพลศึกษา ที่เน้นนักเรียนเป็นจุดศูนย์กลางในการเรียน รวมถึงคอยดูแลอบรมความประพฤติ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นคนโดยสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ มีสติปัญญา ความรู้ คุณธรรม และจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
ครู - อาจารย์ มีหน้าที่ในการสอนแต่ละชั้นให้ได้มาตรฐานการศึกษา ดังต่อไปนี้

1. ครูอนุบาล (Pre-Primary Education Teacher, Kindergarten Teacher)

เป็นผู้ที่สอนหนังสือเด็กชายและเด็กหญิง ในโรงเรียนที่รับเลี้ยงและสอนเด็กที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ เรียนหนังสือ และโรงเรียนอนุบาล รวมถึงการฝึกอบรมและแนะนำเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมที่จะเข้าศึกษา ในโรงเรียนขั้นประถมศึกษาต่อไป โดยทำหน้าที่ฝึกฝนเด็กเกี่ยวกับนิสัย เช่น ความสะอาด การตรงต่อเวลา การให้ความร่วมมือ การเคารพเชื่อฟัง การ เข้าสังคม สอนให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง โดยมอบหมายให้ทำงานง่ายๆ และสนับสนุน ให้เด็กได้มีส่วนร่วมสนุกในเกมส์ต่างๆ สอนกายบริหาร ดนตรี เต้นรำ รำ และใช้สื่อการสอนที่ช่วยกันประดิษฐ์ขึ้นง่ายๆ ให้แก่เด็ก เพื่อพัฒนาทั้งทางด้านจิตใจ และร่างกาย และกิจกรรมอื่นๆ เช่น การสร้างแบบจำลองการวาดเขียนและการระบายสี เพื่อพัฒนาความสามารถที่มีอยู่ ในตัวเด็ก สอนวิชาพื้นฐานเบื้องต้นง่ายๆ อาจแนะนำบิดามารดา เกี่ยวกับการสร้างนิสัยที่ดี และการแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีของเด็ก อาจทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาเด็ก

2. ครูประถมศึกษา (Primary Education Teacher)

ปฏิบัติหน้าที่ในการสอนการอ่านการเขียนเลขคณิต และวิชาพื้นฐานเบื้องต้น เตรียมโครงการสอนในชั้นที่จะต้องสอนตลอดปีการศึกษา สอนวิชาการต่างๆ ควบคุมการทำงานในชั้นเรียน เตรียมแบบฝึกหัดให้นักเรียนทำ แบบฝึกหัด และตรวจสมุดแบบฝึกหัดของนักเรียน ดำเนินการสอบและตรวจให้คะแนน ควบคุมนักเรียนให้อยู่ในระเบียบวินัย ทำรายงานต่างๆ เกี่ยวกับตัวเด็ก อาจสอนหลายวิชาในชั้นเดียวกัน และควบคุมกิจกรรมนอกหลักสูตร

3. ครูมัธยมศึกษา (Secondary Education Teacher)

ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพครู อาจารย์ Teachers Tutors Lecturers ทำหน้าที่ในการสอนวิชาการในระดับมัธยมศึกษา รวมถึงครูที่สอน หรือฝึกอบรมวิชาชีพในสถาบันการศึกษาที่ต่ำกว่าระดับมหาวิทยาลัย เช่น ครูสอนผู้ใหญ่ในโรงเรียนที่สอนวิชาทางด้านธุรกิจหรือการค้า หรือในสถานฝึกอบรม หรือทำการสอนเฉพาะวิชา หรือสอนวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อให้ได้มาตรฐานอาจทำหน้าที่เป็นอาจารย์ ที่ปรึกษาประจำชั้น หรือทำหน้าที่พิเศษเป็นหัวหน้ากิจกรรมแนะแนว ประชาสัมพันธ์ หรือทำหน้าที่เป็นอาจารย์ปกครอง อาจสอนนักเรียนผู้ใหญ่ในชั้นเรียนตอนเย็น อาจมีความชำนาญในการสอนวิชาอื่นๆ หรืออาจเป็นผู้ที่สอนหนังสือในโรงเรียน สถาบันฝึกอาชีพ สถาบันสอนคอมพิวเตอร์ สถาบันกวดวิชา หรือภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีการสอนอยู่ในขั้นระดับมัธยมศึกษา

4. อาจารย์มหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษา (University and Higher Education Teacher)

ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพครู อาจารย์ Teachers Tutors Lecturers ได้แก่ ผู้สอนหนังสือใน คณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัย และ สถาบันอุดมศึกษาให้แก่ผู้ที่เรียนในขั้นปริญญาตรีและปริญญาโทในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยให้เป็นบัณฑิตที่พร้อมไปด้วยวิทยาการ และจริยธรรม
ทำหน้าที่สอนตั้งแต่หนึ่งวิชาขึ้นไปในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ เตรียมคำสอนและบรรยายให้นิสิต นักศึกษาฟัง เตรียมข้อสอบ คุมการสอบ และตรวจให้คะแนน ศึกษาและค้นคว้าเอกสารใหม่ๆที่เกี่ยวกับวิชาที่สอนเพื่อปรับปรุงการสอนให้ทันสมัย

ควบคุมระเบียบวินัย และความประพฤติของนิสิตนักศึกษาในสถาบันให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการศึกษา และหลักเกณฑ์ ที่แต่ละมหาวิทยาลัยวางไว้

ทำการวิจัยเรื่องต่างๆ เป็นเอกเทศ และที่เกี่ยวกับการสอน ให้คำแนะนำนิสิตนักศึกษาในการเลือกวิชาเรียนเพื่อจะได้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะเรื่อง อาจทำการวิจัย และทดลองเพื่อนำข้อมูล มาใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับการสอน อาจมีหน้าที่เตรียมหัวข้อหลักสูตรการศึกษา จัดตารางสอน สอนทบทวนในชั้น สอนภาคพิเศษ อาจมีหน้าที่ปฏิบัติงานด้านบริหาร อาจขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกเกี่ยวกับการสอน การวิจัยการรวบรวมข่าวสาร และการอำนวยความสะดวกต่างๆ ในแขนงวิชาที่ต้องการศึกษาเป็นพิเศษ

สภาพการจ้างงาน

ผู้ปฏิบัติงานอาชีพครู - อาจารย์ ถ้ารับราชการจะได้รับเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา โดยมีสวัสดิการ และสิทธิที่ครู - อาจารย์พึงได้ตามที่องค์กร ต้นสังกัดเป็นผู้กำหนดทุกประการ

ระดับการศึกษา/หน่วยงาน ราชการ เอกชน
ปริญญาตรี 15,000+ 30,000+
ปริญญาโท 17,500+ 30,000+
ปริญญาเอก 21,000+ 30,000+

ในการสอนล่วงเวลาในโรงเรียนรัฐบาลส่วนมากครูจะอุทิศเวลาช่วยสอนนักเรียนเพื่อให้เตรียมตัวพร้อมสำหรับการสอบ อาจมีครู - อาจารย์ ที่รับสอนพิเศษ ณ สถานกวดวิชา หรือที่บ้าน เพื่อเป็นรายได้พิเศษ
ผู้ประกอบอาชีพครู - อาจารย์มีชั่วโมงการสอนไม่เท่ากันและไม่แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถาบันอุดมศึกษา อาจมีชั่วโมงการสอนในแต่ละสัปดาห์ไม่มากนัก แต่ต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ในการเตรียมการสอน หรืออาจทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร โดยอาจได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ได้รับค่าตอบแทนการทำงานก็ได้ หรืออาจได้รับงานการวิจัยจากภายนอกซึ่งได้รับค่าตอบแทนการทำงานในอัตราที่ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับข้อตกลง

สภาพการทำงาน

ผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพครู อาจารย์ Teachers Tutors Lecturers ทำการสอนหนังสือและปฏิบัติงานในหน้าที่วันละ 8 ชั่วโมง อาจทำหน้าที่สอนในห้องเรียน ห้องปฏิบัติการทดลองทาง วิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการด้านภาษา ห้องศิลปศึกษา และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น อินเตอร์เน็ต มาใช้ประกอบเป็นสื่อการสอนได้ ผู้สอนอาจยืน และเดินในการสอนเป็นส่วนมาก อาจมีการเรียนการสอนในห้องเรียน และนอกสถานที่ขึ้นอยู่กับวิชา บทเรียน และสถานการณ์การสอนขณะนั้น เช่น วิชาคณิตศาสตร์ สามารถนำนักเรียนมาเรียนนอกห้องเรียนได้ อาจมีการพานักเรียนไปทัศนศึกษานอกสถานที่ ทั้งในสถานที่ประกอบการ ธรรมชาติศึกษา การเข้าค่ายฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพต่างๆ

ในส่วนของผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ครู - อาจารย์ และวิทยากรประจำกลุ่มการศึกษาทางไกล คือผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ (เริ่มทดลองตั้งแต่ปี 2537) ได้เน้นการเรียนการสอนแบบบูรณาการ โดยการผสมผสานระหว่างสื่อการสอน ประเภทเอกสารชุดการเรียนด้วยตนเอง สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านดาวเทียมไทยคม แล้วออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษาสู่กลุ่มผู้เรียนเป้าหมาย หรืออาจทำการสอนทางสถานีวิทยุกระจายเสียงตามกำหนดเวลาที่จะตกลงกับทางสถานี

การปฏิบัติงานของครู - อาจารย์ และสถาบันการศึกษาจะได้รับการควบคุมดูแล และติดตามระบบการบริหารงานจากคณะกรรมการที่ทำหน้าที่บริหารสถาบันการศึกษา เพื่อให้กระบวนการเรียนของชนในชาติหรือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบังเกิดประสิทธิผลตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ

  1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
  2. เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถและตระหนัก ในคุณค่าของอาชีพ
  3. มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ และเนื้อหาวิชาเฉพาะในแต่ละสาขา
  4. มีความเสียสละ มีความเป็นเหตุเป็นผล สามารถใช้เหตุผลในการแสดงความคิดเห็นอย่างมี ขั้นตอน มีระเบียบชัดเจนและรัดกุม
  5. มีมนุษยสัมพันธ์
  6. เป็นผู้รักงานสอน มีความรักและเมตตาต่อลูกศิษย์
  7. มีโลกทัศน์กว้างไกล
  8. สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์
ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพครู อาจารย์ Teachers Tutors Lecturers ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้คือ : 
ในด้านคุณสมบัติทางการศึกษา ผู้ที่เป็นครูในชั้นเด็กเล็กหรืออนุบาลอาจสำเร็จการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาตรี แต่ต้องได้รับการอบรมหรือสำเร็จการศึกษาทางวิชาชีพครูส่วนผู้ที่สอนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีจากสถาบันการศึกษาที่ กพ.รับรอง ทั้งในประเทศและต่างประเทศสำหรับผู้ที่จะสอนในระดับอุดมศึกษาควรจะต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป โดยสามารถสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาคณะศึกษาศาสตร์วิทยาศาสตร์บัณฑิตในสาขาเอกศึกษาศาตร์ - เกษตร และศึกษาศาตร์ - พลศึกษา ศิลปศาตร์บัณฑิตในสาขาวิชาเอกศึกษาศาสตร์ - พลศึกษาและศึกษาศาสตร์ -คหกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์บัณฑิตในสาขาวิชาเอกสุขศึกษา ธุรกิจศึกษา การสอนคณิตศาสตร์และการสอนวิทยาศาสตร์ หรือจากวิทยาลัยในกรมอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย ในระบบราชการและนอกระบบราชการสถาบันราชภัฎ 36 แห่ง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ที่ได้ขยายและจัดเพิ่มเติมขึ้น ในแต่ละภูมิภาค และภูมิลำเนาของตนได้ เช่น
  • ภาคเหนือ มีมหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  • ภาคอิสานมี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • ภาคตะวันออกมี มหาวิทยาลัยบูรพา
  • ภาคใต้ มีมหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยกัลยาณี เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในวิชาชีพอย่างอื่น เช่น แพทย์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม ก็สามารถเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาสอนทางวิชาการที่ตนเรียนสำเร็จและมีความชำนาญการได้

โอกาสในการมีงานทำ

ปัจจุบันบทบาทการศึกษาในประเทศไทยได้มีการปฏิรูป ให้สอดคล้องผสมผสานระหว่างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการศึกษาและวิถีชีวิตของชุมชน ตามการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 คือคนไทยมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดให้ทั่วถึงอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รวมทั้งผู้พิการทางร่างกาย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจสติปัญญา ความรู้ คุณธรรม และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ และ ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทั้งบุคคล ครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเป็นการพัฒนา ชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการ โดยกำหนดให้แต่ละสถานศึกษามีคณะกรรมการอย่างน้อยแห่งละเจ็ดคน ไม่เกินสิบห้าคน ประกอบด้วยผู้แทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์เก่าและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยทำหน้าที่กำหนดนโยบายแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการ ของสถานศึกษา ดูแลการ จัดทำสาระหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น กำกับติดตาม การดำเนินงานของสถานศึกษา และมีส่วนร่วมในการบริหารการจัดการของสถานศึกษา และส่งเสริม ให้มีการระดมทรัพยากร เพื่อการศึกษาตลอดจนวิทยากรภายนอก รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น นับเป็นนิมิตดีของวงการศึกษาไทย ดังนั้น ครู - อาจารย์ ในปัจจุบันและอนาคตสามารถที่จะทำงานด้านวิชาชีพได้อย่างเต็มที่ ครูที่มีความรู้ ความสามารถจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานการศึกษามากขึ้น

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
อาชีพ - ครูอาจารย์ ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ถ้าเลือกที่จะรับราชการและมีความสามารถ ตลอดจนมีการศึกษาอบรมเพิ่มเติม ก็จะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมวด หัวหน้าคณะ หัวหน้าภาควิชา ส่วนในระดับผู้บริหาร เช่น คณะบดี และอธิการบดี จะต้องมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดไว้

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง

นักการเมืองระดับท้องถิ่น นักวิจัย วิทยากรงานอบรมและสัมมนา นักอบรม นักคิดนักเขียนบทวิเคราะห์ทางการศึกษา นักเขียนหนังสือทางวิชาการ นักเขียนนวนิยายสำหรับบุคคลทั่วไป หรือเยาวชน นักแนะแนวการศึกษา บรรณาธิการผู้สื่อข่าว นักหนังสือพิมพ์ เจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล นักแปลพนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานขายและอาชีพอิสระ

แหล่งข้อมูลอื่น ๆ 

คุรุสภา - สภาครูและบุคคลากรทางการศึกษา
www.ksp.or.th

Related Articels


Copyright © 2011 Future Career อาชีพที่ใฝ่ฝัน | จบไปทำอะไร เรียนอะไรบ้าง ทำงานอะไรบ้าง เงินเดือนดีไหม ที่ไหนเปิดสอนบ้าง | Designed by 4x100Utd