ชื่ออาชีพ นักจิตวิทยา Psychologist
นิยามอาชีพ
ผู้ที่ปฏิบัติงานนักจิตวิทยา Psychologist เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของจิตใจและพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อให้เข้าใจแนวจิตความปรารถนา แรงจูงใจ อารมณ์ของมนุษย์ที่ส่งผลต่อการแสดงออก โดยอาศัยวิชาการทางวิทยาศาสตร์ เข้าช่วยในการศึกษา รวบรวมนำข้อมูลทางจิตวิทยามาตีความ และนำผลของการศึกษาวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ เพื่อป้องกัน และบำบัดผู้ที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ และพฤติกรรมให้กลับมาเข้าใจ ในชีวิตที่ถูกต้อง
ลักษณะของงานที่ทำ
- ตรวจวินิจฉัยทางจิตวิทยา โดยการใช้เครื่องมือทดสอบจิตวิทยาที่เป็นมาตรฐาน ร่วมกับ การสังเกตพฤติกรรม และการสัมภาษณ์ วิเคราะห์ และแปลผลการทดสอบ
- บำบัดรักษาทางจิตวิทยา เป็นวิธีการบำบัดรักษาที่ไม่ต้องใช้ยา ซึ่งแตกต่างจากจิตแพทย์ อาจบำบัดรักษา โดยการใช้ยาได้
- ศึกษา ค้นคว้า วิจัยทางจิตวิทยาใน และป้องกันโรคเกี่ยวข้องกับการเผยแพร่ความรู้ทางจิตวิทยา ในรูปแบบการสอน การฝึกอบรม เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีแรงจูงใจ และสนใจจะเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยา เพื่อพัฒนาตนเองให้มีสุขภาพจิตดีขึ้น หรือพ้นจากภาวะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหา สุขภาพจิต
ปัจจุบัน นักจิตวิทยาแบ่งตามประเภทของสาขาการศึกษาดังนี้
- สาขาจิตวิทยาการศึกษา (Educational Psychology) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการนำหลักการทาง จิตวิทยามาใช้ในการสำรวจปัญหาทางการศึกษา ตลอดจนสร้างหลักการ ทางจิตวิทยาที่มีระบบระเบียบวิธีการของตนเอง ถือเป็นศาสตร์หนึ่งทางด้านพฤติกรรมศาสตร์
- สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychology) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา ความสามารถทางพฤติกรรมของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างเป็นลำดับขั้นตอนว่า มีกระบวนการพัฒนา แต่ละวัยอย่างไร รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน้าที่ต่างๆ ของการพัฒนาโดยเฉพาะทางจิตใจ
- สาขาจิตวิทยาสังคม (Social Psychology) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมอย่างเป็นระบบ เนื้อหาวิชารวมการปฏิสัมพันธ์ทั้งหมด เช่น ศึกษาการรับรู้การตอบสนอง ระหว่างบุคคล อิทธิพลของบุคคลที่มีต่อผู้อื่น ฯลฯ
- สาขาจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการช่วยให้คนรู้จัก และเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้งทุกด้าน ช่วยให้คนรู้จักโลกและสิ่งแวดล้อมของตนช่วยให้คนรู้จักการพัฒนา และสามารถนำศักยภาพหรือความสามารถที่ตนมีอยู่มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น รู้จักเลือก และตัดสินใจอย่างฉลาดเพื่อแก้ปัญหาและปรับตัวอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
- สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรม (Industrial Psychology) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการนำความรู้ทาง จิตวิทยามาใช้ในการดำเนินการคัดเลือกบุคคล พัฒนาการบริหาร การจูงใจลูกจ้าง วิจัยตลาด วิจัยด้านมนุษยสัมพันธ์ เพื่อตอบสนองธุรกิจและอุตสาหกรรม
- สาขาจิตวิทยาคลีนิค (Clinical Psychology) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาการปรับตัวของมนุษย์โดยพยายามค้นหาสาเหตุว่าคนที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น หรือมีความผิดปกติทางจิตใจนั้นมีสาเหตุมาจากอะไรนักจิตวิทยาคลีนิคใช้หลักการและความรู้ทางจิตวิทยามาวิเคราะห์ และบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม เช่น ปัญหาทางสุขภาพจิตโรคประสาท การติดยาเสพติด ความผิดปกติทางเชาวน์ปัญญา ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว ตลอดจนปัญหาการปรับตัวอื่นๆ เพื่อค้นหาวิธีการปรับตัวและการแสดงออกที่ดีและเหมาะสมกว่า
สภาพการจ้างงาน
ผู้ปฏิบัติงานนักจิตวิทยา Psychologist ส่วนใหญ่รับราชการในโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลจิตเวช โดยจะได้รับ ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ในอัตรา 15,000 บาท
สำหรับภาคเอกชน หรือองค์การระหว่างประเทศ อาจจะได้รับเงินเดือนประมาณ 15,000-18,000 บาท หรืออาจจะถึง 20,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์กร และสถานที่ทำงานในแต่ละพื้นที่
ปฏิบัติงานวันละ 8 ชั่วโมง หรือสัปดาห์ละ 40-48 ชั่วโมง มีการปฏิบัติงานพิเศษนอกเหนือเวลาราชการในกรณีมีโครงการหรือกิจกรรมเฉพาะอย่าง
ผู้ปฏิบัติงานนักจิตวิทยา Psychologist จะได้รับผลประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากเงินเดือนตามระเบียบของ ทางราชการ หรือของภาคเอกชน ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายและแนวทางปฏิบัติของแต่ละสถานประกอบการ
สภาพการทำงาน
ผู้ปฏิบัติงานนักจิตวิทยา Psychologist โดยทั่วไปปฏิบัติงานในห้องทำการรักษาเหมือนกับแพทย์ทั่วไป และมีการออกไปเยี่ยมคนไข้หรือชุมชน การปฏิบัติหน้าที่อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายจากคนไข้ ซึ่งมีอารมณ์ไม่ปกติได้ง่าย ดังนั้น ห้องทำงานจึงควรจัดให้มีความปลอดภัย และมีผู้ช่วยดูแลในเรื่องความปลอดภัยของนักจิตวิทยาด้วย
นักจิตวิทยาจะต้องปฏิบัติงานร่วมกับทีมจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์จิตเวช และพยาบาลจิตเวช
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
- สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีคณะต่างๆในประเภทสาขาจิตวิทยา
- มีความเมตตา โอบอ้อมอารี มีใจรักในอาชีพการบำบัดและรักษา และชอบบริการช่วยเหลือผู้อื่น และผู้ป่วย
- มีคุณธรรม จริยธรรม มีความอดทนสูงและใจเย็น
- ควรมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความร่าเริง อาจจะต้องมีการสอบขึ้นทะเบียน และรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลป(เฉพาะจิตวิทยาคลินิก)
ต้องสำเร็จการศึกษาหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนการเรียนวิทยาศาสตร์หรือเทียบเท่า หรือสายศิลป์ เพื่อสอบคัดเลือก เข้าศึกษาต่อ ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในคณะสังคมศาสตร์และคณะมนุษยศาสตร์ เป็นต้น
โอกาสในการมีงานทำ
เนื่องจากในประเทศไทยเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมีผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ สังคมเกิดสภาพบีบคั้นทางด้านการมีงานทำ คือการลดลงของรายได้ การเลิกจ้างงาน จนถึงส่งผลกระทบไปถึงสมาชิก ในครอบครัว ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เกิดความเครียด มีปัญหาทางด้านจิตใจ ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเองได้
ประชาชนจำนวนหนึ่งจึงหันไปพึ่งยาเสพติดประเภทกล่อมประสาทที่มีการซื้อขายกัน อย่างสะดวกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยคิดว่าจะช่วยผ่อนคลายความเครียด และหนีปัญหาได้ แต่เมื่อติดยาเสพติดแล้ว บางรายอาจทำร้ายบุคคลในครอบครัว อีกทั้งสถิติการฆ่าตัวตาย ในประเทศไทย มีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลได้ตระหนักถึงเหตุการณ์นี้ และได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ รักษาดูแล ป้องกันและบำบัดรักษา คือ นักจิตวิทยา นักจิตแพทย์ เพื่อช่วยเหลือบริการบุคคลที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองทางด้านจิตใจขึ้นที่โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศ
รวมทั้งการติดตั้งโทรศัพท์สายด่วนสุขภาพจิต ตลอดจนจัดตั้งเว็บไซต์ เพื่อบริการให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ในการดำเนินชีวิต ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้แนวทาง แก้ปัญหาสุขภาพจิตที่ถูกต้อง
ดังนั้น อาชีพนักจิตวิทยาจึงเป็นที่ต้องการของสังคมอย่างมากในยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และสถานศึกษาทุกแห่ง รวมทั้งในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร อย่างเช่น มูลนิธิต่างๆ ที่ดูแลเด็กที่ด้อยโอกาส หรือหญิงที่ถูกทำร้าย
ตลอดจน คลีนิกรักษาผู้เสพยาเสพติด ก็ต้องการนักจิตวิทยาเช่นกัน แต่ขณะนี้ยังมีการจ้างงานจำนวนน้อย
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
สำหรับผู้ประกอบนักจิตวิทยา Psychologist ในโรงพยาบาลของรัฐบาล จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งตามสายงาน จนถึงระดับสูงสุด ที่ระดับ 8 สำหรับในภาคเอกชนจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงสุดตามโครงสร้างขององค์กร
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
ครู - อาจารย์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในมูลนิธิต่างๆ องค์การระหว่างประเทศที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลในองค์กรธุรกิจเอกชน เจ้าหน้าที่องค์กรและพัฒนาเอกชน ทั่วประเทศ
แหล่งข้อมูลอื่น ๆ
กรมสุขภาพจิต
กระทรวงสาธารณสุข
สมาคมนักจิตวิทยาคลีนิค
ศูนย์สุขวิทยาจิต
Child Mental Health Center
รายชื่อมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน | ||||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัย | คณะหรือประเภทวิชาที่เปิดสอน | |||||||||||||||||||||
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | คณะจิตวิทยา | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา (สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรม) | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา (สาขาจิตวิทยาคลินิก) | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา (สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ) | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา (สาขาจิตวิทยาชุมชน) | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ | คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยทักษิณ | คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาการศึกษา จิตวิทยาและการแนะแนว | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ | คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยนเรศวร | คณะสังคมศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยบูรพา | คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยบูรพา | คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา (ภาคพิเศษ) | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม | คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา (วท.บ.) | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ | คณะมนุษยศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ. 4 ปี) สาขาจิตวิทยา | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ | คณะศึกษาศาสตร์ หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ. 5 ปี) สาขาวิชาจิตวิทยาการแนะแนว | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยศิลปากร | คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ | คณะศึกษาศาสตร์ ปัตตานี (หลักสูตร 4 ปี) วิชาเอกจิตวิทยา | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม | คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา | คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ | คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ | คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยา | |||||||||||||||||||||
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต | คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ | |||||||||||||||||||||